ตรวจโควิดฟรี 5-11 พ.ค. “ผู้ประกันตน” เช็กเงื่อนไข-วิธีลงทะเบียน!

กระทรวงแรงงานเปิดให้ “ผู้ประกันตน” ม.33, 39, 40 “ตรวจโควิดฟรี” อีกครั้ง 5-11 พ.ค. หากต้องการลงทะเบียน เช็กเงื่อนไขที่นี่ 

วันที่ 4 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ตรวจคัดกรองโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 ในระบบประกันสังคม เปิดให้บริการอีกครั้งวันที่ 5-11 พฤษภาคม 2564 หลังปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา

เกณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่ได้ตรวจโควิดฟรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ผู้ประกันตนที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ฟรี จะต้องเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามที่ สธ. หรือ สปสช. กำหนด ดังนี้

  • นิยามผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค สธ. จะต้องมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการต่อไปนี้ คือ มีไข้ อุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส มีผื่นขึ้น ตาแดง หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก

อาการดังกล่าว จะต้องมีปัจจัยร่วมด้วย ดังต่อไปนี้ 

  1. ภายใน 14 วันก่อนเริ่มป่วย มีประวัติอย่างน้อยหนึ่งอย่าง
  • สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19
  • ไปในสถานที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานพยาบาล สถานบันเทิง หรือขนส่งสาธารณะที่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
  • เดินทางไปยัง/มาจาก/หรืออยู่อาศัย ในประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
  • ปฏิบัติงานในสถานกักกันโรค

2. แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19

กรณีได้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 หรือไปในสถานที่มีการระบาดมา โดยไม่มีอาการป่วย แต่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 สามารถไปรับการตรวจคัดกรองได้ โดย สปสช.ได้ปรับแก้ประกาศให้ครอบคลุมการตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช.ได้ โดยไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย

แนวปฏิบัติหลังตรวจเชื้อ

ผู้ประกันตนที่เข้ารับการตรวจโควิด-19 จะต้องกักตัวที่บ้านระหว่างรอผลตรวจ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เมื่อทราบผลการตรวจแล้วทางโรงพยาบาลจะแจ้งให้ทราบผ่าน 3 ช่องทาง คือ QR Code, SMS และทางโทรศัพท์

จากนั้นแนวการปฏิบัติตนขณะรอเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน มีดังนี้

  1. ผู้ประกันตนที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (กลุ่มสีเขียว) โรงพยาบาลให้เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม
  2. สำหรับกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรงหรือกลุ่มที่มีอาการรุนแรง (กลุ่มสีส้มและกลุ่มสีแดง) พิจารณาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กรณีโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้เนื่องจากเตียงเต็ม โรงพยาบาลสามารถส่งต่อผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการดูแลต่อไป